วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเลี้ยงไม้น้ำในตู้ปลา

ความเป็นอยู่ของปลามีความแตกต่างจากสัตว์บกหรือสัตว์เลือดอุ่นค่อนข้างมาก การเลี้ยงสัตว์บกสามารถปรับปรุงคอกเลี้ยง ทำให้สามารถทำความสะอาดกำจัดเศษอาหาร และมูลสัตว์ออกจากคอกได้อย่างง่ายดาย แต่ปลามีน้ำเป็นบ้านอย่างถาวรและจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตต่างๆอีกหลายชนิด คุณภาพน้ำอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสาเหตุจากสภาพแวดล้อมและจากตัวปลาเอง เพราะปลาก็มีการขับถ่ายอยู่ตลอดเวลา แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดการปรับปรุงหรือปรับสภาพให้น้ำมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยขบวนการต่างๆจากสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในน้ำอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลย์
                ปลาสวยงามถูกนำมาเลี้ยงในพื้นที่จำกัด โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ แต่เน้นเพื่อให้มองดูสวยงามมีน้ำใสอยู่เสมอ ทั้งที่คุณสมบัติด้านต่างๆอาจแตกต่างไปจากน้ำธรรมชาติอย่างมากมาย จนทำให้ปลาอ่อนแอแคระแกรนหรืออาจถึงตายได้ แต่น้ำก็ยังคงดูเหมือนใสสะอาด ผู้เลี้ยงปลาสวยงามจึงควรให้ความสนใจดูแลและปรับเปลี่ยนน้ำให้แก่ปลาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
1 ความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีพของปลา       
                1.1 เป็นแหล่งออกซิเจนที่ปลาต้องใช้หายใจ   ออกซิเจนที่ปลาจะนำไปใช้หายใจได้นั้นจะต้องละลายลงไปในน้ำ สภาพน้ำที่ดีมีการเจือปนของสิ่งต่างๆน้อยจึงจะมีการละลายของ ออกซิเจนได้ดี   หรือมีปริมาณของออกซิเจนอยู่สูง   จะทำให้ปลาสดชื่นมีสุขภาพดี
                1.2 มีผลต่อการเจริญเติบโต   น้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมจะทำให้ปลามีการเจริญเติบโตได้ดี   สภาพน้ำที่มีการหมักหมมของเศษอาหาร   และของเสียจากการขับถ่ายของปลามากเกินไป   จะทำให้ปลาแคระแกรน   เติบโตช้า   ถึงแม้ปลาจะยังมีการกินอาหารดีอยู่ก็ตาม
                1.3 มีผลต่อการกินอาหารของปลา   หากสภาพของน้ำมีความไม่เหมาะสมมากขึ้น   ปลาจะกินอาหารน้อยลง   การว่ายน้ำค่อนข้างเชื่องช้า   อ่อนแอและเกิดโรคได้ง่าย
                 1.4 มีผลต่อสีสันของปลา   น้ำที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้ปลามีสีซีดจางกว่าที่เคยเป็นอยู่ 
2 ประเภทของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงาม        
                 น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงามมาจากหลายแหล่งด้วยกัน   การเลือกใช้จะขึ้นกับความสะดวก   ปริมาณ   วัตถุประสงค์ของการเลี้ยง   กับความเหมาะสมในการจัดหา   ได้แก่
                2.1 น้ำประปา   เป็นน้ำที่ผู้เลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่ใช้เลี้ยงปลากันมากที่สุด   โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้เลี้ยงที่อยู่ตามอาคารบ้านเรือน   ทำให้สามารถจัดหาได้ง่าย   และประการที่สำคัญคือ  น้ำประปาจัดว่าเป็นน้ำที่มีความเหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาสวยงามได้เป็นอย่างดี   เพราะจากขบวนการของการผลิตน้ำประปา   ได้เน้นที่มีความใสสะอาดเพื่อการอุปโภค   และบริโภคของมนุษย์   จึงต้องนำเอาน้ำที่มีคุณภาพดีมาผลิต   รวมทั้งต้องมีการฆ่าเชื้อโรค   จึงทำให้น้ำประปามีความปลอดภัยจากเรื่องโรคพยาธิที่จะมากับน้ำได้   นอกจากนั้นน้ำประปาส่วนใหญ่ยังมีการใช้ปูนขาวช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างของน้ำ     ทำให้น้ำมีความกระด้างและมีความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลา   สรุปได้ว่าข้อดีของน้ำประปาในการเลี้ยงปลาสวยงาม คือ   ใส   ปราศจากโรคพยาธิ   และมีคุณสมบัติเหมาะสม
                แต่น้ำประปาก็มีปัญหาบางประการในการใช้ คือ   น้ำประปาที่พึ่งเปิดออกจากท่อประปามาใหม่ๆนั้น   จะมีปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ คือ
                 2.1.1 ปริมาณของคลอรีน   ซึ่งใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในขบวนการผลิต   จะยังคงเหลือตกค้างอยู่ในน้ำ   ซึ่งมักจะมีความเข้มข้นอยู่ประมาณ  0.5 - 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร(ppm)   หากปล่อยปลาลงเลี้ยงทันที   หรือเปิดใส่ให้ปลาทันทีทันใด   ปริมาณของคลอรีนที่มีอยู่ในน้ำจะมีผลทำให้ปลาตาย   ซึ่งเป็นปัญหาที่พบกันอยู่เสมอ   ดังนั้นหากต้องการนำน้ำประปาไปใช้เลี้ยงปลาสวยงาม   จะต้องทำการกำจัดคลอรีนที่ตกค้างออกก่อน  ดังนี้
(1)   รองน้ำประปาใส่ภาชนะทิ้งไว้   ควรเป็นภาชนะปากกว้าง เช่น โอ่งน้ำ หรือถัง       ไฟเบอร์   ปล่อยไว้ประมาณ 2 - 3 วัน   ถ้าสามารถตั้งให้รับแสงแดดจะใช้เวลา 1 - 2 วัน   คลอรีนจะระเหยออกจากน้ำหมดไปเอง
(2)   รองน้ำประปาใส่ภาชนะโดยทำให้น้ำกระจายตัวออกให้มากที่สุด   ซึ่งทำได้โดยการปล่อยน้ำผ่านฝักบัว  หรือใช้สายยางต่อจากปลายก๊อกแล้วบีบปลายสายยางให้น้ำกระจายออก   หรือใช้เศษท่อเอสล่อนสั้นๆเจาะรูหลายๆรูต่อปลายสายยางแทนฝักบัว   ปล่อยน้ำให้ตกเหนือปากภาชนะ   การที่พยายามทำให้น้ำกระจายตัว   จะช่วยไล่คลอรีนออกจากน้ำไปได้มากจากนั้นปล่อยน้ำไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง   คลอรีนจะระเหยหมดไป
(3)   รองน้ำประปาใส่ภาชนะ   แล้วใช้เครื่องให้อากาศ (Air  Pump) ปั๊มอากาศผ่านหัวทรายเป็นฟอง   ซึ่งจะทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียนตลอดเวลาด้วย   วิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 4 - 6 ชั่วโมง  แล้วแต่ความแรงของเครื่องให้อากาศ   คลอรีนจะระเหยหมดไป
(4)   ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำประปาอย่างเร่งด่วน  จะต้องใช้สารเคมีใส่ลงไปเพื่อทำปฏิกริยาเคมีทำให้คลอรีนที่ตกค้างอยู่หมดไป   สารเคมีที่จะใช้จะต้องไม่มีผลตกค้างหรือก่อผลข้างเคียงอย่างอื่นอีก   ซึ่งสารเคมีที่นิยมใช้ทำปฏิกริยากับคลอรีนในน้ำประปาในปัจจุบันได้แก่ สารโซเดียมไธโอซัลเฟต (Na2S2O3 . 5H2O) สารนี้มีลักษณะเป็นเกล็ดยาวและเป็นเหลี่ยมผลึกใส  เวลาใส่ลงในน้ำจะให้ความเย็น   เมื่อละลายลงในน้ำที่มีคลอรีนจะเกิดปฏิกริยากับคลอรีนทันที   ดังสมการต่อไปนี้
                Cl2   +  2 Na2S2O3 .5H2O        Na2S4O6   +    2 NaCl   +   10 H2O  
            สารโซเดียมไธโอซัลเฟตสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ หรือร้านขายปลาสวยงาม อัตราการใช้โดยทั่วไปจะใช้ปริมาณ1เกล็ด(เม็ด) ต่อน้ำ 5 ลิตร หรือตู้ปลาขนาด 18 นิ้ว จะใส่ 6 เม็ด และตู้ปลาขนาด 24 นิ้วจะใส่ 10 เม็ด
            2.1.2 การสะสมก๊าซภายในน้ำ น้ำประปาที่ถูกส่งจากสำนักงานประปาไปตามท่อเพื่อส่งไปยังสถานที่ต่างๆนั้น ในระหว่างที่น้ำไหลไปตามท่อจะเกิดแรงดันทำให้มีก๊าซต่างๆถูกสะสมอยู่ในน้ำเป็นจำนวนมาก จะสังเกตได้ว่าเมื่อเปิดน้ำประปาใส่ภาชนะสักครู่จะมีฟองอากาศเกิดขึ้น โดยเกิดเป็นฟองอากาศเม็ดเล็กๆเกาะอยู่ตามผนังภาชนะ ถ้าเป็นตู้กระจกจะสังเกตได้ชัดเจนมาก แรงดันของก๊าซที่สะสมในน้ำประปานี้จะมีผลต่อปลา โดยจะไปทำให้กล้ามเนื้อของปลาเกิดการขยายตัว กล้ามเนื้อส่วนใดที่อ่อนจะถูกดันให้เกิดการขยายตัวได้ง่าย เช่นที่บริเวณท้องและบริเวณกล้ามเนื้อตาของปลา จึงมักทำให้ปลาเสียการทรงตัวแล้วตาย หรือทำให้ปลาตาปูดโปนออกมา ทำให้ปลามีอาการอักเสบที่ตาแล้วปลามักจะตาบอด วิธีการกำจัดก๊าซที่สะสมในน้ำทำได้ไม่ยากนัก คือในขณะรองน้ำประปาใส่ภาชนะพยายามให้น้ำมีการกระจายตัวออกให้มากที่สุด โดยการเปิดผ่านฝักบัวหรือบีบสายยางฉีดน้ำเหนือภาชนะตลอดเวลา จากนั้นอาจใช้เครื่องให้อากาศปั๊มอากาศเป็นฟองหมุนเวียนอยู่ประมาณ 30 - 60 นาที ก็จะกำจัดก๊าซต่างๆออกได้หมด
            2.1.3 ความเป็นกรดของน้ำประปา จากขบวนการผลิตน้ำประปาจะมีการใช้สารส้ม เพื่อทำให้เกิดการจับตัวของตะกอนและสารแขวนลอยต่างๆ จากนั้นจึงไปผ่านระบบกรองเพื่อทำให้น้ำใส ผลของการใช้สารส้มจะทำให้น้ำมีคุณสมบัติเป็นกรด ถึงแม้ในระบบการผลิตน้ำประปาจะมีการใช้ปูนขาวเพื่อปรับระดับความเป็นกรดให้มีค่าต่ำลง จนอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อผู้บริโภคและไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อปลา แต่จากประสบการณ์ที่เคยใช้น้ำประปาเลี้ยงปลาสวยงามและเลี้ยงปลาทดลองต่างๆ พบว่าน้ำประปาที่ผ่านการดำเนินการกำจัดคลอรีนและก๊าซต่างๆแล้ว ในบางครั้งจะยังเกิดปัญหาทำให้ปลาตายได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าน้ำยังมีสภาพความเป็นกรดเหลืออยู่ แสดงว่าการผลิตน้ำประปาในบางครั้งอาจใส่ปูนขาวไม่มากพอที่จะปรับความเป็นกรดให้อยู่ในระดับปกติได้ จำเป็นที่ผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะต้องหาทางป้องกันไว้ โดยการเติมปูนขาว หรือปูนแดง(ปูนที่ใช้กินหมาก) ประมาณ 1 ใน 3 ช้อนชา ต่อน้ำ 100 ลิตร ลงในถังพักน้ำ
                2.2น้ำธรรมชาติ       เป็นน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือจากระบบชลประทาน ผู้เลี้ยงปลาสวยงามที่เน้นดำเนินกิจการเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเป็นหลักจำเป็นต้องใช ้เพราะส่วนใหญ่ในแต่ละวันต้องใช้น้ำในปริมาณที่มาก เนื่องจากมีพื้นที่มาก คือ อาจมีทั้งบ่อซีเมนต์ และบ่อดิน โดยทั่วไปน้ำประเภทนี้จะไม่ใส แต่เป็นน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของปลา ซึ่งปัญหาที่พบในการใช้น้ำธรรมชาติคือ
             2.2.1 อาจมีโรคหรือพยาธิติดมากับน้ำ   โดยเฉพาะพวกพยาธิภายนอก  เช่น  เห็บปลา   หนอนสมอ   ปลิงใส   และเห็บระฆัง   ซึ่งมักจะทำลายเนื้อเยื่อปลา   แล้วมีผลทำให้ปลาเกิดโรคระบาดติดตามมา   วิธีการแก้ไขทำได้โดยการใช้ระบบบ่อกรองน้ำ   โดยน้ำธรรมชาติที่จะนำเข้ามาใช้ควรนำไปผ่านบ่อกรองน้ำลักษณะซึมบ่อทราย  หรือระบบบ่อกรองน้ำ    ก็จะสามารถป้องกันพยาธิภายนอกไว้ได้   นอกจากนั้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งมักเกิดโรคระบาดปลา   หรือในบริเวณนั้นมีฟาร์มสัตว์น้ำค่อนข้างมาก   ก็อาจมีการระบาดของโรคต่างๆมากับน้ำได้   ต้องทำการแก้ไขโดยใช้บ่อพักน้ำ   คือน้ำจากบ่อกรองจะยังไม่นำไปใช้โดยทันที   แต่ควรนำไปเก็บไว้ในบ่อพักน้ำประมาณ 5 - 7 วัน  จะทำให้ตัวอ่อนของโรคต่างๆที่ติดมาตายไป   ก็จะนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย   
                 2.2.2 น้ำขุ่น ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ   น้ำจะมีตะกอนขุ่นข้นจนไม่สามารถนำไปเลี้ยงปลาได้   วิธีการแก้ไขก็โดยการใช้บ่อกรองน้ำเช่นกัน   แต่จะต้องหมั่นทำความสะอาดวัสดุกรองบ่อยๆ   เพราะปริมาณตะกอนจะค่อนข้างมาก
                 2.2.3 ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ   ฟาร์มปลาสวยงามที่อยู่ในเขตชลประทาน   หรือใช้แหล่งน้ำขนาดเล็ก   มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง   โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูแล้งซึ่งเป็นช่วงเหมาะสำหรับการเพาะและอนุบาลลูกปลา   ควรที่จะต้องมีบ่อพักน้ำเพื่อสำรองน้ำเก็บไว้
                2.3 น้ำบาดาล เป็นน้ำใต้ดินที่ถูกนำขึ้นมาใช้   เหมาะสำหรับฟาร์มปลาสวยงามที่มีกิจการไม่มากนัก   หรือรังปลา(ร้านขายส่งปลา)   ซึ่งมักตั้งอยู่แถวชานกรุงเทพฯ   จะมีการใช้น้ำในปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละวันเช่นกัน   ถึงแม้ว่าจะมีน้ำประปาส่งไปถึง   แต่การแก้ไขปัญหาในน้ำประปาที่จำเป็นต้องใช้เป็นปริมาณมากในแต่ละวันนั้นทำได้ยาก   จึงจำเป็นต้องนำน้ำบาดาลเข้ามาใช้   คุณสมบัติของน้ำบาดาลนั้นจะใสและสะอาดเช่นเดียวกับน้ำประปา   อีกทั้งยังไม่มีคลอรีนตกค้างอยู่ในน้ำ   แต่น้ำบาดาลก็มีปัญหาที่ต้องพิจารณาดังนี้
              2.3.1 ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด น้ำบาดาลจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมาก   และจะไม่มีออกซิเจนละลายอยู่เลย   หากนำไปใช้เลี้ยงปลาสวยงามทันทีจะทำให้ปลาตายได้   วิธีการแก้ไขคือใช้บ่อหรือถังพักน้ำขนาดไม่ใหญ่มากนัก   เมื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาจะปล่อยลงถังพัก   โดยปล่อยน้ำให้มีการกระจายตัวมากที่สุด   ซึ่งวิธีที่นิยมใช้คือใช้ฝักบัว   และให้ฝักบัวอยู่สูงจากปากถังพักน้ำพอควร   ในระหว่างที่น้ำกระจายตัวออกจากฝักบัวก่อนตกลงที่ผิวน้ำในถังพัก   ก็จะรับออกซิเจนจากอากาศละลายเข้าไปในน้ำ   ในขณะเดียวกันจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ระเหยออกสู่อากาศ   น้ำบาดาลในถังพักจะสามารถปล่อยไปเลี้ยงปลาสวยงามได้ทันที   จึงไม่ต้องเสียเวลารอพักน้ำบาดาล
                 2.3.2 คุณสมบัติของน้ำบาดาล  ถึงแม้น้ำบาดาลโดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปลา   แต่น้ำบาดาลในบางพื้นที่อาจมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม   ทำให้ปลาเจริญเติบโตช้าหรือไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้   คุณสมบัติที่สำคัญของน้ำบาดาลที่พบว่าอาจก่อปัญหาให้แก่ปลา   ได้แก่   ความเป็นกรดด่าง(pH)   และความเค็ม   ดังนั้นก่อนดำเนินการเจาะและติดตั้งเครื่องเพื่อการใช้น้ำบาดาล   ควรมีการเจาะน้ำเพื่อตรวจสอบความเป็นกรดด่าง   และความเค็มของน้ำก่อน   เมื่อพบว่าไม่มีผลต่อปลาจึงค่อยดำเนินการถาวร
                 สำหรับการใช้น้ำบาดาลในปัจจุบันมักก่อให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด   จึงมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาล   ผู้ที่จะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลจะต้องขออนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก่อน   มิฉะนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย
                 2.4 น้ำฝน   ในสมัยก่อนนิยมใช้น้ำฝนในการเลี้ยงปลาสวยงาม   เนื่องจากถือว่าเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีมาก   มีความใสสะอาดจนสามารถบริโภคได้   แต่ในปัจจุบันมีปัญหามลพิษทางอากาศเนื่องจากความเจริญของบ้านเมือง   ก่อปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆในอากาศค่อนข้างมาก  ทำให้น้ำฝนจะมีการซึมซับสารพิษต่างๆไว้ในขณะที่ตกลงมา   มีผลทำให้น้ำฝนมีคุณสมบัติเป็นกรดค่อนข้างรุนแรง   การใช้น้ำฝนเลี้ยงปลาสวยงามในปัจจุบันจึงมักทำให้ปลาตาย   หรือมีสีสันซีดลง   ยกเว้นถ้ารองน้ำฝนในวันที่มีฝนตกหนัก   และรองภายหลังจากที่ฝนตกไปแล้วระยะหนึ่ง   จึงอาจนำน้ำฝนนั้นมาเลี้ยงปลาได้    แต่ถ้าหากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะนำน้ำฝนมาใช้เลี้ยงปลา
 .
3 คุณสมบัติของน้ำที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของปลา        
                คุณสมบัติของน้ำที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจริญเติบโตของปลา   หรือการดำรงชีพของปลานั้น   จะมีทั้งคุณสมบัติทางด้านกายภาพ (Physical  Condition)   ทางด้านเคมี (Chemical  Condition)   และทางด้านชีววิทยา (Biological  Condition)   ซึ่งมักจะมีความสัมพันธ์กัน   หากคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งไม่เหมาะสม  ก็จะส่งผลกระทบไปถึงปลาได้ทันที   อาจทำให้ปลาแคระแกรน   อ่อนแอป่วยเป็นโรคได้ง่าย   หรือไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้   ดังนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังควบคุมคุณสมบัติของน้ำ   และพยายามปรับสภาพของน้ำให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลาอยู่เสมอ
                 3.1 คุณสมบัติของน้ำทางด้านกายภาพ
                3.1.1 สีของน้ำ   สีของน้ำที่ปรากฎแก่สายตาจำแนกได้เป็น 2 ประเภท  คือ
                           - สีจริง (True  Color)  เป็นสีที่เกิดจากสารละลายต่างๆที่ละลายในน้ำ   ในระยะแรกอาจมองไม่เห็น   จนเมื่อมีการสะสมมากขึ้นจึงสังเกตได้   เช่นอาหารปลาบางชนิดจะมีการละลายทำให้น้ำออกเป็นสีเหลือง   สีจริงที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถแยกออกจากน้ำโดยการกรอง
                           - สีปรากฎ (Apparent  Color)   เป็นสีที่สามารถมองเห็นได้ง่าย   ส่วนใหญ่เกิดจากตะกอนและสารแขวนลอย   รวมทั้งแพลงตอนต่างๆ   หรืออาจเกิดจากการสะท้อนแสง   
                การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นน้ำที่มองเห็นในตู้เลี้ยงปลาสวยงามมักจะเป็นสีจริง เนื่องจากการเลี้ยงปลาสวยงามเน้นที่ความใสของน้ำ มีการใช้ระบบกรองน้ำที่ดีและได้รับแสงน้อยจึงไม่มีตะกอนและแพลงตอนเกิดขึ้น สีของน้ำไม่มีผลต่อตัวปลาโดยตรงแต่จะช่วยบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติหากความใสของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไป
                3.1.2 อุณหภูมิ     อุณหภูมิของน้ำมีผลต่อการดำรงชีพของปลาค่อนข้างมาก เพราะปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายปลาหรือขบวนการเผาผลาญอาหารภายในร่างกายจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ดังนั้นในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำหรือในฤดูหนาวขบวนการต่างๆในตัวปลาจะลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการยับยั้งการเจริญเติบโต การกินอาหาร และการแพร่พันธุ์ของปลา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในเขตร้อนมีศักยภาพการเจริญเติบโตของปลาดีกว่าในแถบอื่นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีช่วงฤดูหนาวซึ่งกินเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่มากพอที่จะก่อความเสียหายแก่ปลาที่เลี้ยงได้ ผู้เลี้ยงปลาจะต้องลดปริมาณอาหารที่เคยให้ลง และคอยระวังเรื่องการเกิดโรคระบาด เพราะจากการที่ปลากินอาหารลดลงทำให้สภาพร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง จะทำให้ปลาป่วยหรือติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จึงพบว่ามักจะเกิดปัญหาโรคระบาดสัตว์น้ำในฤดูหนาวอยู่เสมอ
                  สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามซึ่งพบปัญหาปลาเกิดโรคระบาดและปลาตายในฤดูหนาวอยู่เสมอ แต่เนื่องจากเป็นการเลี้ยงที่ใช้พื้นที่ไม่มากนัก จึงสามารถที่จะทำการควบคุมอุณหภูมิของน้ำในตู้เลี้ยงปลาได้ โดยใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิ (Heater) ก็สามารถควบคุมให้น้ำมีอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับปลาได้ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับปลาโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 27 - 32 องศาเซลเซียส การควบคุมอุณหภูมิจะช่วยให้ปลากินอาหารได้ตามปกติ ทำให้ปลาแข็งแรงสุขภาพดี จึงเป็นวิธีการช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดได้อย่างดี              
                3.1.3 ความขุ่นของน้ำ    หมายถึงปริมาณสารแขวนลอยที่อยู่ในน้ำ ความขุ่นของน้ำจะมีผลต่อการบดบังแสง ทำให้ความสมบูรณ์ของบ่อปลาลดลงและยังมีผลอุดตันระบบหายใจ มักทำให้ปลาขนาดเล็กและไข่ปลาตายได้
                     การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกจะไม่พบปัญหาน้ำขุ่น ยกเว้นพวกที่ดำเนินกิจการฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงามและใช้น้ำธรรมชาติเป็นหลัก โดยจะพบปัญหาน้ำขุ่นในช่วงฤดูฝน หากไม่แก้ไขก็จะทำให้การเพาะและอนุบาลลูกปลาล้มเหลว การแก้ไขจะสามารถทำได้โดยใช้ระบบบ่อกรองน้ำหรือบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ นอกจากนั้นหากต้องการตกตะกอนน้ำเพื่อต้องการน้ำค่อนข้างใส ก็อาจกระทำโดยใช้บ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่มีความจุประมาณ 40 - 50 ลูกบาศก์เมตร แล้วใช้สารส้มปริมาณ10ส่วนในล้านส่วน (ppm) หรือคิดเทียบเท่ากับ 100 กรัม (1ขีด) ต่อน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตร (น้ำ1ลูกบาศก์เมตรมีปริมาตรเท่ากับ 1,000 ลิตร หรือมีน้ำหนักเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม) คำนวณหาปริมาตรน้ำในบ่อพักน้ำแล้วมาเทียบหาปริมาณสารส้มที่ต้องใช้         
ตัวอย่าง - บ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยม   มีขนาด กว้าง  4  เมตร   ยาว  10  เมตร   ใส่น้ำได้ลึก 1  เมตร
                 บ่อจะมีปริมาตร                     =    กว้าง  X  ยาว  X  ลึก
                                                            =    4  X  10  X  1               =   40     ลูกบาศก์เมตร
                                จะใช้สารส้ม           =    100  X  40/10             =   400   กรัม
                                                          .
                 -  บ่อซีเมนต์กลม   มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  8  เมตร  ใส่น้ำได้ลึก  1  เมตร
                 บ่อจะมีปริมาตร                   =   x r x r x h
                                                         =   22/7  X 4  X  4  X  1
                                                         =   50.3                    ลูกบาศก์เมตร
                จะใช้สารส้ม                        =   100  X  50.3/10        =   503     กรัม
                    เมื่อชั่งสารส้มได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว   ควรนำมาทุบให้เป็นก้อนเล็กๆเพื่อให้ละลายน้ำได้ง่าย  ก่อนละลายน้ำควรใช้ผ้าห่อหรือใส่ในกระชอน   แล้วจึงนำไปละลายน้ำ   จะทำให้ละลายสารส้มได้หมด   จากนั้นใช้เครื่องสูบน้ำแบบจุ่ม(ปั๊มจุ่มหรือไดรโว่)ปั๊มน้ำในบ่อให้หมุนเวียนประมาณ 1 ชั่วโมง   จากนั้นทิ้งน้ำไว้ 1 - 2 วัน   น้ำจะตกตะกอนมีความใสเกือบเท่าน้ำประปา   นำไปใช้เลี้ยงปลาได้ดี
.
                  3.2 คุณสมบัติของน้ำทางด้านเคมี
                    3.2.1 ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ   มักนิยมเรียกว่า “pH”  หมายถึงค่าความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออน (H+)ที่อยู่ในน้ำ   ค่า pH ของน้ำจะอยู่ระหว่าง 0 - 14   โดยมีค่าเป็นกลางที่  pH 7  ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส     สำหรับน้ำธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีค่า pH อยู่ระหว่าง 5 - 9
ตารางที่ 1  แสดงระดับค่าของ pH ที่มีผลต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำจืด
     ระดับค่าของ pH
 ผลต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำ
     4.0 หรือต่ำกว่า
เป็นอันตรายมักทำให้ปลาตาย
     4.1 - 6.0
ปลาบางชนิดตาย

ปลาที่ไม่ตาย  จะมีการเจริญเติบโตช้า   ผลผลิตต่ำ

ระบบสืบพันธุ์ไม่เจริญ
     6.5 - 9.0
เหมาะสมต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำ
     9.1 - 11.0
การเจริญเติบโตช้า   ผลผลิตต่ำ
    11.1 ขึ้นไป
เป็นอันตรายต่อปลา
                 การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกมักไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นกรดของน้ำ   เนื่องจากมีการให้ออกซิเจนและมีการใช้เศษหินปะการังในระบบกรองน้ำ   แต่จะเกิดปัญหาเรื่องความเป็นด่าง   คือผู้เลี้ยงปลามักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ   ทำให้มีการสะสมแอมโมเนียจากการขับถ่ายและการย่อยสลายของเศษอาหารมากขึ้น   ประกอบกับน้ำมีการหมุนเวียนผ่านเศษปะการังตลอดเวลา   จึงทำให้น้ำมีความเป็นด่างสูงขึ้น   ถึงแม้จะไม่มีผลทำให้ปลาตาย   แต่ก็มักจะทำให้ปลามีสีสันซีดจางลง   วิธีการแก้ไขทำโดยการหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ
                 3.2.2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ   มักเรียกย่อๆว่า DO (Dissolved  Oxygen)   การหายใจของปลาส่วนใหญ่จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำ   ซึ่งในธรรมชาติการละลายของออกซิเจนเกิดได้ 2 ทาง คือ
        การละลายจากอากาศที่ผิวน้ำ   จะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นกับขนาดบ่อและความแรงของลม   คือลมจะทำให้น้ำเกิดคลื่น   และในระหว่างที่คลื่นน้ำเคลื่อนจากริมบ่อทางต้นลมไปถึงริมบ่อทางท้ายลม   ก็จะละลายเอาออกซิเจนจากอากาศไปเรื่อยๆ   ขนาดของบ่อจะมีความสำคัญมาก   คือถ้าบ่อขนาดใหญ่จะมีการเกิดคลื่นได้ง่าย   ถึงแม้ลมจะไม่แรง   สังเกตได้จากอ่างเก็บน้ำหรือทะเลจะมีคลื่นตลอดเวลา   และคลื่นเคลื่อนที่เป็นระยะทางไกล   บ่อขนาดใหญ่จึงไม่ค่อยพบปัญหาการขาดออกซิเจน
        การสังเคราะห์แสงของแพลงตอนพืชและพืชน้ำ   ในเวลากลางวันแพลงตอนพืชและพืชน้ำจะเกิดขบวนการสังเคราะห์แสง   ดึงเอาธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้   จากนั้นจะให้ก๊าซออกซิเจนออกมา   จัดว่าเป็นการช่วยรักษาสมดุลย์ในระบบนิเวศน์ได้ด้วย   แต่วิธีนี้อาจเกิดปัญหาเพราะในเวลากลางคืนทั้งแพลงตอนพืชและพืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสง   และจำเป็นต้องการใช้ออกซิเจนเช่นกัน   ดังนั้นหากมีแพลงตอนพืชหรือพืชน้ำมากเกินไป   ก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนในเวลากลางคืนได้   ซึ่งมักพบว่าปลามีการ ลอยหัว คืออาการที่ปลาลอยตัวอยู่ใกล้ผิวน้ำและอ้าปากฮุบอากาศที่ผิวน้ำเกือบตลอดเวลา   โดยมักเกิดตอนใกล้รุ่ง  
                      สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงปลาในพื้นที่จำกัดเล็กๆ   น้ำใสสะอาด   ไม่มีแพลงตอน   และมักไม่ปลูกพรรณไม้น้ำ   การละลายของออกซิเจนที่ผิวน้ำแทบจะไม่สามารถเกิดได้เลย   ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงเลี้ยงในตู้ปลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง   ปลาจะใช้ออกซิเจนหมดไปโดยไม่มีการละลายของ ออกซิเจนเพิ่มเติม   ทำให้ปลาลอยหัวและอาจถึงตายได้   ดังนั้นเครื่องเพิ่มปริมาณการละลายของออกซิเจนหรือ แอร์ปั๊ม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงปลาสวยงาม   ผู้เลี้ยงปลาแทบทุกรายจึงต้องซื้อแอร์ปั๊มไปใช้เพิ่มออกซิเจนในตู้เลี้ยงปลา       มิฉะนั้นปลาที่เลี้ยงจะไม่ค่อยกินอาหาร   ทำให้แคระแกรน   สีซีดจาง   อ่อนแอติดโรคได้ง่าย   หรืออาจขาดออกซิเจนจนถึงตายได้   ยกเว้นปลาบางชนิดจะมีอวัยวะช่วยหายใจ   ทำให้สามารถใช้ออกซิเจนจากอากาศได้   โดยในขณะที่น้ำมีออกซิเจนน้อยปลาจะขึ้นฮุบอากาศที่ผิวน้ำ  แล้วนำออกซิเจนจากอากาศไปใช้ในการหายใจได้   จึงทำให้ปลาเหล่านี้มีความสามารถอยู่ในน้ำเสีย   หรือหมกตัวอยู่ในโคลนตมได้ดีกว่าปลาชนิดอื่น   ตัวอย่างเช่น   ปลาหางนกยูง   ปลากัด   ปลากระดี่ชนิดต่างๆ   ปลาหมอตาล   ปลาชะโด   ปลาดุก   และปลาแรด   แต่ถึงแม้ปลาเหล่านี้จะทนทาน   ถ้านำมาเลี้ยงในตู้ปลาก็ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องแอร์ปั๊มเพิ่มออกซิเจน   เพราะการที่น้ำมีออกซิเจนสูงจะทำให้ปลาสดชื่น   กินอาหารเก่ง   เติบโตเร็ว   สีสันสดใส   และเจริญพันธุ์ได้ดี
                  3.2.3 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   เป็นก๊าซที่ปลาไม่ต้องการ   เมื่อมีมากจะแทรกซึมเข้ากระแสเลือดทำให้ปลาตาย   ในธรรมชาติการเกิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   จะมาจากการหายใจของพืชและสัตว์   และการสลายของอินทรียสาร   แต่ในเวลากลางวันแพลงตอนพืชและพรรณไม้น้ำจะนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ในการสังเคราะห์แสง   ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น   ในบ่อขนาดใหญ่ซึ่งมีการเกิดคลื่นที่ผิวน้ำอยู่เสมอ   ก็จะมีการละลายของออกซิเจนทำให้ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สูงมากนัก   เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ระเหยออกจากน้ำสู่อากาศได้ง่าย   เนื่องจากอากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่น้อยมาก   แต่บ่อขนาดเล็กมีการละลายของออกซิเจนค่อนข้างน้อย   จึงมีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อยๆ
                 การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้ปลาก็จะมีคาร์บอนไดออกไซด์   เกิดขึ้นจากการหายใจและการหมักหมมของเศษอาหาร   แต่ไม่มีปัญหาเพราะระเหยออกสู่อากาศเนื่องจากการใช้แอร์ปั๊ม   และในระบบกรองน้ำยังช่วยควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์โดยจะไปทำปฏิกริยากัเศษปะการัง   เกิดเป็นสารประกอบไบคาร์บอเนต (HCO3-)ละลายอยู่ในน้ำ   โดยไม่เป็นพิษต่อปลา   ตู้ปลาที่มีการหมักหมมมาก   ถ้าเครื่องแอร์ปั๊มเกิดขัดข้องปลามักจะลอยหัวและตายในเวลาอันรวดเร็ว   ผู้เลี้ยงปลาจะต้องหมั่นขจัดสิ่งหมักหมมและไม่ให้อาหารมากจนเกินไป   นอกจากนั้นยังควรสำรองแอร์ปั๊มที่ใช้แบตเตอรี่ไว้ด้วย
                   3.2.4 สารประกอบไนโตรเจน   มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของปลา   โดยจะขึ้นกับชนิดของสารประกอบ   ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ   แต่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของปลามาก  ได้แก่   แอมโมเนีย (NH3)   ไนไตรท์ (NO2-)   และไนเตรท (NO3-)   ซึ่งสารประกอบทั้ง 3 ชนิดจะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมา   เนื่องจากขบวนการต่างๆ
                 ในธรรมชาติแอมโมเนียจะเกิดจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและการขับถ่ายของเสียจากตัวปลา   ซึ่งจะพบได้ 2 รูปแบบ  ดังสมการ
                   NH3    +   H2O        NH4+   +  OH-
NH4+ ที่เกิดมีการแตกตัวได้ง่ายและไม่เป็นพิษ   มักพบในรูปของเกลือแอมโมเนียมคลอไรด์   หรือเกลือแอมโมเนียมซัลเฟต   ซึ่งมีประโยชน์ต่อแพลงตอนพืชและพรรณไม้น้ำ  ส่วน NH3 ที่เกิดจะไม่แตกตัวและเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ   โดยจะแพร่เข้าผนังเซลล์ได้ง่าย   การใช้อาหารปลาที่มีโปรตีนสูงและให้อาหารปลามากเกินไป   เศษอาหารจะทำให้มีการสะสมแอมโมเนียมากขึ้น   จนอาจถึงระดับที่มีความเป็นพิษต่อปลาได้อย่างรวดเร็ว   ปลาจะชะงักการเจริญเติบโต   และเหงือกอาจถูกทำลายได้ง่าย
                 สำหรับไนไตรท์และไนเตรทจะเกิดจากขบวนการย่อยสลายแอมโมเนียของพวกแบคทีเรีย   โดยในสภาพปกติหรือน้ำค่อนข้างเป็นด่างก็จะทำให้เกิดไนเตรท   ซึ่งมีประโยชน์ต่อแพลงตอนพืชและพรรณไม้น้ำอย่างยิ่ง   เพราะนำไปใช้ได้ง่าย   แต่ถ้าสภาพน้ำเป็นกรดก็จะทำให้เกิดไนไตรท์มาก   ซึ่งมีความเป็นพิษต่อปลา
                         ในธรรมชาติสารประกอบไนโตรเจนมักพบในรูปของไนเตรท   เพราะขบวนการย่อยสลายแอมโมเนียเกิดได้ง่าย   จากนั้นแพลงตอนพืชและพรรณไม้น้ำจะนำเอาไนเตรทที่เกิดขึ้นไปใช้   จึงทำให้เกิดสมดุลย์ของระบบนิเวศน์   แต่สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงาม   การสะสมของเศษอาหารและของเสียต่างๆมีมากอยู่ในระบบกรองน้ำ   ทำให้เกิดการสะสมของสารประกอบไนโตรเจนได้เสมอ   แต่ไม่มีพืชน้ำหรือแพลงตอนพืชที่จะคอยนำสารประกอบเหล่านี้ไปใช้  ผู้เลี้ยงปลาเองก็มักไม่ทราบว่ามีสารประกอบไนโตรเจนสะสมอยู่ในตู้เลี้ยงปลา   เพราะมองเห็นน้ำใสและปลาส่วนใหญ่ก็ดูเป็นปกติดี   แต่เมื่อปล่อยไปนานๆเข้าปลาจะมีสีสันซีดจางลง   ไม่กระตือรือร้นหรือสดชื่นเหมือนเดิม   และมักเกิดโรคตายไปในที่สุด   วิธีการป้องกันและแก้ไขการสะสมของสารประกอบไนโตรเจนที่ดีที่สุด คือ   การเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ให้แก่ปลาบ่อยๆและกระทำอย่างสม่ำเสมอ
                  3.2.5 ความเค็มของน้ำ  หมายถึงปริมาณของของแข็งหรือเกลือแร่ต่างๆที่ละลายอยู่ในน้ำ   โดยเฉพาะเกลือแกง   ความเค็มมีผลต่อการดำรงชีวิตของปลา   ปลาส่วนใหญ่จึงมีความเจาะจงอยู่ในน้ำจืดหรือน้ำเค็มอย่างเด่นชัด   แต่ก็มีปลาหลายชนิดที่สามารถปรับตัวได้ดีสามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม   เช่น  ปลากะพงขาว   ปลาตะกรับ(ปลาเสือดาว)   และปลาเฉี่ยว (ปลาเทวดาบอร์เนียว)   ปลาส่วนใหญ่จะสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มได้ประมาณ 5 ส่วนในพันส่วน(ppt)
                 การเลี้ยงปลาสวยงามโดยทั่วไปจะไม่พบปัญหาด้านความเค็ม   แต่มักใช้ประโยชน์จากความเค็มในการควบคุมดูแลสุขภาพปลา   โดยมักนิยมเติมเกลือแกง 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 100 ลิตรเป็นประจำทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง   จะช่วยให้ปลาได้รับเกลือแร่ซึมเข้าร่างกาย   ช่วยให้ปลามีการขับเมือก  จะทำให้ปลาสดชื่นขึ้น   หรืออาจใช้เกลือแกงอัตรา 3 - 5 ppt  ช่วยในการป้องกันและรักษาโรคปลา
                 ตัวอย่างการคำนวณ   ตู้เลี้ยงปลามีขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร   ความยาว 90 เซนติเมตร    ใส่น้ำได้ระดับสูง 40 เซนติเมตร    ต้องการป้องกันโรคปลาโดยการใส่เกลือแกงอัตรา 3 ppt   จะต้องใส่เกลือแกงจำนวนเท่าใด
วิธีทำ   คำนวณหาปริมาตรน้ำในตู้
                 จากสูตร    ปริมาตร               =   กว้าง  X  ยาว  X  สูง
                 ปริมาตรน้ำในตู้ปลา               =   40  X  90  X  40
                                                           =   144,000                     ลูกบาศก์เซนติเมตร
                 ทำให้เป็นลิตร        1  ลิตร     =   1,000                         ลูกบาศก์เซนติเมตร 
                 ปริมาตรน้ำในตู้ปลา               =   144,000 / 1,000              ลิตร
                                                            =   144                               ลิตร
                 ต้องการป้องกันโรคปลาโดยการใส่เกลือแกงอัตรา             3             ppt
                 3  ppt   หมายถึง  ปริมาตรน้ำ   1  ลิตร  ต้องใส่เกลือ           3             กรัม
                 ปริมาตรน้ำในตู้ปลา  144  ลิตร  จะใส่เกลือ       =   3  X  144            กรัม
                                                                                    =   432                     กรัม
                 นั่นคือจะต้องใส่เกลือแกงน้ำหนัก        432    กรัม (~  4  ขีดครึ่ง   หรือเกือบครึ่งกิโลกรัม)
.
                   3.2.6 สารพิษ   ปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติมักจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดต่างๆ   ซึ่งมักมีอันตรายต่อสัตว์น้ำ   สารพิษดังกล่าวมาจากโรงงานอุตสาหกรรม   การเกษตรกรรม   และของเสียจากครัวเรือน   ยิ่งมีการพัฒนาหรือมีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นเพียงใด   ก็ยิ่งมีสารพิษตกค้างลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น   สารพิษเหล่านี้จะมีผลทำให้การเจริญเติบโตของปลาลดลง   ปลาขนาดเล็กและไข่ปลามักจะตาย   นอกจากนั้นยังทำให้อาหารธรรมชาติที่จำเป็นของปลาลดลง
                 การเลี้ยงปลาสวยงามด้วยน้ำประปาจะไม่ประสบปัญหาทางด้านสารพิษ   แต่สำหรับผู้ที่จะดำเนินกิจการฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม   ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยน้ำธรรมชาติค่อนข้างมาก   ควรเลือกพื้นที่ให้ห่างไกลจากชุมชนและห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
 .
                 3.3 คุณสมบัติของน้ำทางด้านชีวภาพ
                   3.3.1 พรรณไม้น้ำ  เป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่มักมีการนำมาเลี้ยงร่วมกับปลาสวยงาม   เพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้ตู้ปลา   และยังมีความสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลย์ของคุณภาพน้ำ   โดยจะนำเอาสารอาหารหรือสารประกอบที่เกิดจากการขับถ่ายของปลา   และการย่อยสลายของเศษอาหาร  เช่น   คาร์บอนไดออกไซด์   ไบคาร์บอเนต   ไนเตรท   และแอมโมเนีย   ไปใช้   ดังนั้นหากมีการปลูกพรรณไม้น้ำในตู้ปลาก็จะช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้   แต่ก็ไม่สามารถปลูกพรรณไม้น้ำร่วมกับปลาสวยงามได้ทุกชนิด   เพราะปลาบางชนิดอาจทำลายพรรณไม้น้ำที่ปลูกได้   เช่น    ปลาทอง   ปลาคาร์พ    ซึ่งมักหากินตลอดเวลาก็จะกัดแทะกินพรรณไม้น้ำไปเรื่อยๆจนทำให้พรรณไม้น้ำที่ปลูกตายไป   สำหรับประโยชน์ของพรรณไม้น้ำในด้านอื่นๆคือ   ปลาบางชนิดจะใช้พรรณไม้น้ำเป็นวัสดุในการวางไข่   เช่นปลาเสือสุมาตรา   ปลาเซเป้  ปลานีออน   และปลาแขยงหิน   ตัวอ่อนของปลาที่ออกลูกเป็นตัวจะอาศัยพรรณไม้น้ำเป็นที่หลบซ่อนทำให้รอดพ้นจากการถูกจับกินได้
                 พรรณไม้น้ำที่มีความสวยงามและนิยมใช้ตกแต่งในตู้ปลาสวยงามได้แก่   สาหร่ายฉัตร   สาหร่ายหางกระรอก   อะเมซอนใบยาว   อะเมซอนใบกลม
                    3.3.2 แพลงตอน   เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆในน้ำ   ในธรรมชาติจะมีแพลงตอนเกิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ   โดยมีการเปลี่ยนแปลงชนิดและปริมาณไปตามคุณภาพน้ำ   และฤดูกาล   จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำ   มีความสำคัญคือเป็นอาหารของลูกปลาทุกชนิด   ปกติแพลงตอนจะแยกออกได้เป็น  2  ประเภท  คือ
·        แพลงตอนพืช   จะใช้ธาตุอาหารต่างๆที่ละลายอยู่ในน้ำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง   เช่นเดียวกับพวกพรรณไม้น้ำ   แพลงตอนพืชจะเป็นอาหารของลูกปลาบางชนิดและแพลงตอนสัตว์   จึงถือว่าแพลงตอนพืชเป็นผู้ผลิตชั้นต้นของห่วงโซ่อาหาร
·        แพลงตอนสัตว์   จะเติบโตโดยกินจุลินทรีย์และแพลงตอนพืช   แพลงตอนสัตว์เป็นอาหารที่สำคัญของลูกปลาทุกชนิด   รวมทั้งปลาเต็มวัยบางชนิดที่มีขนาดเล็กก็จะชอบกินแพลงตอนสัตว์   เช่น  ปลากัด   ปลาซิว   ปลานีออน   ปลาเทวดา   ปลาสอด   และปลาหางนกยูง
                 ในการเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกมักจะไม่มีแพลงตอนชนิดใดๆเกิดได้   แต่ถ้าหากวางตู้ให้ได้รับแสงแดดมากๆจะทำให้เกิดแพลงตอนพืชได้   จะมีผลทำให้น้ำในตู้ปลาเป็นสีเขียว   การเลี้ยงปลาสวยงามโดยทั่วไปจึงนิยมวางตู้ปลาในห้องและตั้งไม่ให้ถูกแสงแดด   แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องตั้งตู้ปลาในที่รับแสง   อาจป้องกันการเกิดแพลงตอนพืชและตะไคร่น้ำโดยใช้สารเคมี จุนสี(คอปเปอร์ซัลเฟต)  อัตรา  0.3 - 0.5  มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร     สำหรับแพลงตอนสัตว์ไม่พบว่าเกิดในตู้ปลา   เพราะหากเกิดขึ้นก็จะถูกปลากินหรือถูกดูดเข้าไปติดในระบบกรองน้ำ   แต่ผู้เลี้ยงปลามักจะต้องหามาเลี้ยงปลาสวยงามที่ยังจำเป็นต้องกินอาหารมีชีวิต
                     3.3.3 สัตว์หน้าดิน   เป็นสิ่งมีชีวิตที่มักอาศัยอยู่ตามพื้นก้นแหล่งน้ำหรือก้นบ่อ   ได้แก่  พวกแมลงน้ำ   ตัวอ่อนของแมลง   และพวกหอยต่างๆ   ในธรรมชาติพวกแมลงน้ำและตัวอ่อนของแมลงจะเป็นทั้งศัตรูและอาหารของปลา   ซึ่งจะแล้วแต่ชนิดของแมลงกับตัวอ่อนของแมลง   รวมทั้งชนิดและวัยของปลาสวยงาม   เช่น  แมลงด้วงดิ่ง   มวนวน  และมวนกรรเชียงจะเป็นศัตรูที่คอยจับลูกปลากินเป็นอาหาร   แต่ปลาหมอ   ปลาปอมปาดัวร์   ปลาเทวดา   และปลาเสือพ่นน้ำ   ที่โตแล้วจะชอบไล่กินมวนวนและมวนกรรเชียง   สำหรับตัวอย่างของตัวอ่อนของแมลง   เช่น  ตัวอ่อนของแมลงปอ   จะเป็นศัตรูที่สำคัญของลูกปลา   ส่านหนอนแดงซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงริ้นน้ำจืด   จะเป็นอาหารที่ดีของปลาเกือบทุกชนิด
                 การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกจะไม่พบสัตว์หน้าดิน   เพราะแมลงไม่สามารถเข้าไปได้   ผู้เลี้ยงปลายังจำเป็นต้องหาซื้อมาเลี้ยงปลาสวยงามบางชนิด   โดยเฉพาะหนอนแดง   จะมีความจำเป็นสำหรับเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์   ปลาเทวดา   และปลากัด   แต่ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ใช้น้ำธรรมชาติ   และใช้บ่อขนาดใหญ่   จะต้องหมั่นตรวจสอบดูแมลงน้ำและตัวอ่อนของแมลง   ที่อาจบินเข้ามา   หรือเข้ามากับระบบน้ำ   หรือเข้ามากับอาหารธรรมชาติที่ช้อนมาเลี้ยงปลาก็ได้
                    3.3.4 โรคและพยาธิต่างๆ   เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวรบกวนปลาและมีโอกาสเกิดขึ้นกับการเลี้ยงปลาสวยงามได้เสมอ   จัดเป็นปัญหาที่สำคัญของการเลี้ยงปลาสวยงาม   และที่สำคัญคือเป็นพวกที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์ขยายจำนวนได้รวดเร็ว   ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่และศึกษาให้รอบคอบ   เพื่อป้องกันโรคและพยาธิมิให้เกิดกับปลาสวยงามที่เลี้ยงได้


2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากค่ะ ให้ข้อมูลละเอียดเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. Lucky Club - Home of Slot Machines
    Welcome to Lucky Club, home of the best luckyclub.live Las Vegas slots, free online slots games, and the best casinos in town. Lucky Club is a popular casino

    ตอบลบ